Slánský, Rudolf Salzmann (1901-1952)

นายรูดอล์ฟ ซัลซ์มันน์ สลันสกี (พ.ศ. ๒๓๔๔-๒๔๙๕)

รูดอล์ฟ ซัลซ์มันน์ สลันสกีเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakian Communist Party) และมีบทบาทสำคัญร่วมกับเคลเมนต์ กอตต์วัลด์ (Klement Gottwald)* นายกรัฐมนตรีในการจัดตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ขึ้นปกครองประเทศใน ค.ศ. ๑๙๔๘ สลันสกีสนับสนุนกอตต์วัลด์ให้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นเพื่อใช้กวาดล้างกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามและใช้มาตรการควบคุมทางสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้สลันสกีจะสนับสนุนแนวทางการสร้างระบบสังคมนิยมในเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* โดยยึดสหภาพโซเวียตเป็นแม่แบบ แต่เขาก็ต่อต้านนโยบายกวาดล้างชาวยิวที่โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตสั่งให้พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกดำเนินการ สลันสกี


ซึ่งมีเซื้อสายยิวจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อโซเวียตและติดต่อใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาทั้งมีความเกี่ยวข้องกับลาซโล รอย์ค (Lászlo Rajk)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฮังการีที่ถูกจับด้วยข้อหาเป็นจารชนของประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตก ใน ค.ศ. ๑๙๕๑ สลันสกีจึงถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งในพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาล และใน ค.ศ. ๑๙๕๒ ถูกพิจารณาคดีโดยเปิดเผยพร้อมกับวลาดีมีร์ เคลเมนติส (Vladimir Clementis) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเชื้อสายยิว

 สลันสกีเกิดในครอบครัวนักธุรกิจชาวเช็กเชื้อสายยิวเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๑ ที่หมู่บ้านเนซเวสตีเซ (Nezvěstice) ใกล้เมืองเปิลเซน (Plzen) ในแคว้นโบฮีเมีย (Bohemia) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* บิดาเป็นพ่อค้าเร่ที่ขายของตามหมู่บ้านต่าง ๆ และสร้างตัวจนกลายเป็นนักธุรกิจที่มีฐานะ เขามีน้องชาย ๑ คน สลันสกีเรียนหนังสือระดับต้นที่โรงเรียนประจำในหมู่บ้านและไปเรียนต่อโรงเรียนพาณิชย์ที่เมืองเปิลเซน หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* สลันสกีเดินทางไปหางานทำที่กรุงปราก (Prague) เมืองหลวงของประเทศเชโกสโลวะเกียที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นหลัง ค.ศ. ๑๙๑๘ และได้งานเป็นเสมียน เขาสนใจข่าวสารทางการเมืองและมีโอกาสรู้จักกับปัญญาชนหัวรุนแรงหลายคนที่รวมกันเป็นกลุ่มเรียกว่าสโมสรนักลัทธิมากซ์ (Marxist Club) ปัญญาชนดังกล่าวซึ่งต่อด้านนโยบายของทอมาช มาซาริก (Tomáš Masaryk)* สังกัดกลุ่มปีกซ้ายของพรรคสังคมประชาธิปไตยเชโกสโลวะเกีย (Social Democratic Czechoslovonic Party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวสังคมนิยม ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ กลุ่มปีกซ้ายดังกล่าวได้แยกตัวเป็นอิสระและจัดตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เช็กขึ้น และต่อมามีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สโลวะเกียจำนวนหนึ่งเข้ามารวมด้วย พรรคคอมมิวนิสต์เช็กจึงเรียกขื่อว่าพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวะเกีย สลันสกีเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๑ และก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในสายงานพรรคจนได้เป็นแกนนำคนสำคัญของพรรค เขามีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวทางความคิดในหมู่คนหนุ่มสาวและมีหน้าที่รับผิดชอบด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ เขาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของพรรคชื่อ Rudé Provo ซึ่งเป็นที่นิยมอ่านกันในหมู่ปัญญาชนและกรรมกรหัวก้าวหน้า

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ สลันสกีได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคสาขาภูมิภาคมอรัฟสกาออสตราวา (Moravská Ostrava) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของประเทศเขาสามารถขยายฐานเสียงของพรรคในหมู่กรรมกรจนสมาชิกพรรคเพิ่มขึ้นอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว ความสำเร็จดังกล่าวมีส่วนทำให้เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๕ ของพรรคคอมมิวนิสต์ ในปีเดียวกันนั้นสลันสกีก็ได้เป็นสมาชิกโปลิตบูโร (Politburo) เขาสนับสนุนเคลเมนต์กอตต์วัลด์ให้เป็นผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ในองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือโคมินเทิร์น (Comintern)* ทั้งโน้มน้าวสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ให้สนับสนุนนโยบายของกอตต์วัลด์ในการต่อต้านการแบ่งแยกแคว้นซูเดเทน (Sudetenland) เมื่อกอตต์วัลด์ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๙ สลันสกีได้ชื่อว่าเป็นมือขวาและสหายสนิทของกอตต์วัลด์

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๙-๑๙๓๔ รัฐบาลเช็กดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ซึ่งทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ต้องเคลื่อนไหวใต้ดินและพยายามรักษาความเป็นเอกภาพขององค์กรพรรคให้เข้มแข็ง รวมทั้งขอความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ รัฐบาลเช็กเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยหันมาสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตซึ่งนำไปสู่การลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาพันธมิตรโซเวียต-เซ็ก (Soviet-Czech Treaty of Alliance) ในเดือนพฤษภาคม สนธิสัญญาฉบับนี้เปิดทางให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายและทำให้ทั้งกอตต์วัลด์และสลันสกีได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาเมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ดำเนินนโยบายละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* และแสดงท่าทีคุกคามยุโรปสลันสกีสนับสนุนกอตต์วัลด์ให้ประสานงานกับประเทศสมาชิกโคมินเทิร์นในการใช้นโยบายแนวร่วมประชาชน (Popular Front) ด้วยการร่วมมือกับกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์เพื่อต่อต้านเยอรมนี นอกจากนั้น เขายังเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเอดุอาร์ด เบเนช (Eduard Beneš)* ดำเนินนโยบายต่อต้านเยอรมนีในการยึดครอง แคว้นซูเดเทนด้วยการพยายามต่อสู้อย่างถึงที่สุด

 อย่างไรก็ตาม เมื่อฮิตเลอร์ยอมรับข้อเสนอแนะของประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน รูสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกาและเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลีในการจัดประชุมระหว่างประเทศขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับดินแดนซูเดเทน และนำไปสู่ความตกลงมิวนิก (Munich Agreement)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ เชโกสโลวะเกียซึ่งไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยถูกบีบบังคับให้ยกซูเดเทนแก่เยอรมนี โดยเยอรมนีสัญญาว่าจะไม่รุกรานดินแดนส่วนที่เหลือของเชโกสโลวะเกียหลังความตกลงมิวนิก รัฐบาลเช็กชุดใหม่ปรับเปลี่ยนแนวนโยบายการปกครองและหันมาปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์จึงกลับไปเคลื่อนไหวใต้ดินอีกครั้งหนึ่งในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ เยอรมนีบุกโปแลนด์ซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* และในปลายปีเดียวกันก็บุกเชโกสโลวะเกีย

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๔ สลันสกีทำงานในฝ่ายต่างประเทศขององค์การโคมินเทิร์นในกรุงมอสโกและรับผิดชอบดูแลการกระจายเสียงของสถานีวิทยุมอสโก เมื่อเยอรมนีเคลื่อนกำลังใกล้ถึงกรุงมอสโกในฤดูหนาวระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๑-๑๙๔๒ สถานีวิทยุมอสโกมีบทบาทสำคัญในการปลุกขวัญและกำลังใจแก่พลเมืองโซเวียตและทหารในกองทัพแดง (Red army)* ให้ยืนหยัดต่อสู้กับเยอรมนี สลันสกียังรู้จักแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตคนสำคัญหลายคนซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้วิธีการต่าง ๆ ที่แกนนำพรรคเหล่านี้ใช้ควบคุมสมาชิกพรรคและสร้างระเบียบวินัยในองค์การพรรค ในเวลาต่อมาสลันสกีจึงนำแนวทางการปกครองและการลงโทษที่ทารุณมาใช้ในเชโกสโลวะเกียช่วงหลัง ค.ศ. ๑๙๔๕ ในช่วงระหว่างสงคราม สลันสกีมีบทบาทสำคัญร่วมกับกอตต์วัลด์ในการจัดตั้งหน่วยทหารเช็กขึ้นในสหภาพโซเวียตและจัดฝึกอบรมทางทหารแก่ชาวเช็กและสโลวักที่นิยมคอมมิวนิสต์เพื่อส่งไปปฏิบัติการร่วมกับขบวนการต่อเชโกสโลวะเกีย ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ อดีตประธานาธิบดีเบเนชผู้นำรัฐบาลเช็กพลัดถิ่นที่จัดตั้งขึ้นที่กรุงลอนดอนเดินทางมากรุงมอสโกเพื่อร่วมหารือกับสลันสกีและกอตต์วัลด์ในการจัดตั้งรัฐบาลและวางแนวทางการบูรณะฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง

 ในการประชุมใหญ่ทั่วไปของกลุ่มผู้รักชาติที่เมืองเคียฟ (Kiev) ค.ศ. ๑๙๔๔ สลันสกีได้รับเลือกเป็นผู้แทนของเชโกสโลวะเกีย และถูกส่งไปเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของสภาแห่งชาติสโลวัก (Slovak National Council) ที่มีกุสตาฟ ฮูซาก (Gustav Husak)* เป็นผู้นำ แต่การโค่นล้มอำนาจรัฐบาลหุ่นนาซีในสโลวักที่เรียกกันว่า การลุกฮือของประชาชาติสโลวัก (Slovak National Uprising) ประสบความล้มเหลว อย่างไรก็ตาม สลันสกียังคงอยู่ที่สโลวักต่ออีกระยะหนึ่งและเป็นผู้นำขบวนการใต้ดินเคลื่อนไหวต่อต้านนาซีในเขตหัวเมือง

 ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ อดีตประธานาธิบดีเบเนชและยาน มาซาริก (Jan Masaryk)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลเช็กพลัดถิ่นเดินทางมาหารือกับสตาลินผู้นำสหภาพโซเวียตเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศภายหลังสงครามสิ้นสุดลง เบเนชขอให้สหภาพโซเวียตสนับสนุนรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นและตกลงที่จะให้สมาชิกคอมมิวนิสต์เช็กหลายคนที่ได้รับการฝึกอบรมในโซเวียตเข้าร่วมในคณะรัฐบาล ต่อมาเมื่อกองทัพแดงเข้าปลดปล่อยเชโกสโลวะเกีย เบเนช มาซาริก กอตต์วัลด์ และสลันสกีได้ติดตามกองทัพแดงกลับเข้าประเทศและร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นเพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกซึ่งกำหนดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ พรรคคอมมิวนิสต์เช็กได้จัดประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ ๘ ขึ้น สลันสกีซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการป้องกันประเทศของรัฐสภาแห่งชาติได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ในปีต่อมาเขาเป็นผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์เช็กเข้าร่วมการประชุมใหญ่ที่เมืองวิลชาโกรา (Wilcza Gora) ในโลเวอร์ไซลีเซีย (Lower Silesia) เพื่อหารือเรื่องการจัดตั้งองค์การโคมินฟอร์ม (Cominform)* เพื่อเป็นองค์การกลางติดต่อและแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ทั่วโลก

 ในการเลือกตั้งทั่วไปหลังสงครามเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ พรรคคอมมิวนิสต์ได้คะแนนเสียงมากที่สุดถึงร้อยละ ๓๘ ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง กอตต์วัลด์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลผสมที่จัดตั้งขึ้นและบริหารประเทศโดยยึดสหภาพโซเวียตเป็นแม่แบบทั้งปฏิบัติตามคำสั่งของสตาลินผู้นำสหภาพโซเวียตโดยไม่เข้าร่วมในโครงการฟื้นฟูบูรณะยุโรป (European Recovery Program-ERP) หรือแผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* ของสหรัฐอเมริกา สลันสกีสนับสนุนนโยบายของกอตต์วัลด์แต่ยาน มาซาริกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อต้านอย่างมากเพราะเห็นว่าเชโกสโลวะเกียกำลังถูกตัดโอกาสทางเศรษฐกิจในการบูรณะฟื้นฟูประเทศ ต่อมาเมื่อกอตต์วัลด์และสลันสกีร่วมมือกันรวบอำนาจการปกครองด้วยการปลดบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลรวมทั้งอธิบดีตำรวจแล้วแต่งตั้งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เข้าดำรงตำแหน่งแทนการกระทำดังกล่าวทำให้รัฐมนตรี ๑๑ คน ซึ่งมาจากอีก ๓ พรรคการเมือง คือ พรรคสังคมนิยมแห่งชาติ (National Socialist Party) พรรคประชาชน (People’s Party) และพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) ประท้วงด้วยการลาออก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงในคณะรัฐบาลและสื่อมวลชนก็วิจารณ์โจมตีพรรคคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง แต่กอตต์วัลด์ไม่สนใจต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ สลันสกีจึงเสนอแนะให้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมและสนับสนุนกอตต์วัลด์ให้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยไม่มีฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ร่วมอยู่ด้วย กอตต์วัลด์ก็ปฏิบัติตาม การยึดอำนาจทางการเมืองที่ปราศจากการนองเลือดดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่รู้จักกันในชื่อรัฐประหาร เดือนกุมภาพันธ์ (Coup d’état of February) ค.ศ. ๑๙๔๘

 หลังการยึดอำนาจทางการเมืองรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มกวาดล้างกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามและใช้มาตรการเข้มงวดควบคุมทางสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการเลือกตั้งเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๘ พรรคคอมมิวนิสต์จึงมีชัยชนะอย่างเด็ดขาด รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งยึดรัฐธรรมนูญสหภาพโซเวียตเป็นแม่แบบเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ และเปลี่ยนชื่อประเทศจากสาธารณรัฐเชโกสโลวะเกียเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเชโกสโลวะเกีย (People’s Democratic Republic of Czechoslovakia) ประธานาธิบดีเบเนชปฏิเสธที่จะลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และต่อต้านด้วยการลาออก กอตต์วัลด์จึงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๘ เขาแต่งตั้งอันโตนิน ซาโปตอตสกี (Antonin Zapotocký)* อดีตผู้นำสหภาพแรงงานที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์เป็นนายกรัฐมนตรีและสนับสนุนสลันสกีให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์อีกครั้งโดยกอตต์วัลด์ดำรงตำแหน่ง ประธานพรรค

 กอตต์วัลด์และสลันสกีร่วมกันปกครองประเทศอย่างเข้มงวด มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (ค.ศ. ๑๙๔๙-๑๙๕๔) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five-Year Plan)* ของสหภาพโซเวียตเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเป็นอุตสาหกรรม และการสร้างค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* เพื่อกำจัดประชาชนและกลุ่มที่ต่อต้านผู้นำและรัฐบาล ขณะเดียวกันสลันสกีก็สนับสนุนแนวทางการสร้างลัทธิบูชาบุคคล (Cult of Personality)* ให้เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบการปกครองเพื่อวางฐานอำนาจของผู้นำประเทศให้มั่นคง อย่างไรก็ตาม เขาก็ต่อต้านนโยบายกวาดล้างชาวยิวที่สหภาพโซเวียตสั่งให้ดำเนินการเพราะเห็นว่าเป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากสหภาพโซเวียตไม่พอใจที่อิสราเอลหันไปสนับสนุนสหรัฐอเมริกาและหวาดระแวงชาวยิวว่าเป็นพวกไซออนนิสต์ (Zionist) ที่มีแผนต่อต้านโซเวียตจึงดำเนินการกวาดล้างยิว ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ ซึ่งครบรอบวันเกิดอายุ ๕๐ ปีของสลันสกี กอตต์วัลด์จัดงานเลี้ยงฉลองให้สลันสกีอย่างยิ่งใหญ่และมอบอิสริยาภรณ์สังคมนิยม (Order of Socialism) ซึ่งเป็นอิสริยาภรณ์สูงสุดของประเทศแก่สลันสกีทั้งประกาศจะให้มีการจัดพิมพ์หนังสือชุด “งานรวบรวม” (collected works) ว่าด้วยแนวความคิดทางการเมืองของสลันสกีเผยแพร่ทั่วประเทศ สลันสกียังได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้วย แม้สลันสกีจะได้รับโทรเลขและจดหมายอวยพรจากทั่วทุกสารทิศ แต่ก็ไม่มีโทรเลขหรือคำอวยพรจากสตาลินสลันสกีจึงเริ่มตระหนักว่าเขากำลังจะเป็นเหยื่อของการกวาดล้างทางการเมืองในเวลาไม่นานนัก

 การคาดการณ์ของสลันสกีเป็นจริงในเวลาอันรวดเร็วในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เขาถูกจับพร้อมกับแกนนำคอมมิวนิสต์ชาตินิยมชาวเช็กและสโลวักอีก ๑๓ คนด้วยข้อหาคบคิดแผนก่อตั้งกลุ่มนิยมตีโตเพื่อผลักดันการปกครองประเทศให้เป็นไปตามแนวทางของยอซีป บรอชหรือตีโต (Josip Broz; Tito)* ผู้นำยูโกสลาเวีย สลันสกียังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำกลุ่มชาวยิวในการวางแผนสังหารกอตต์วัลด์และโค่นอำนาจรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ โดยได้รับความช่วยเหลืออย่างลับ ๆ จากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษการจับกุมและกล่าวหาสลันสกีเป็นเพราะเขาเป็นคอมมิวนิสต์ชาตินิยมชาวเช็กที่มีชื่อเสียงและมีแนวความคิดการสร้างระบอบสังคมนิยมแบบเชโกสโลวะเกียที่ไม่ยึดสหภาพโซเวียตเป็นต้นแบบที่ตายตัว สลันสกียังมาจากครอบครัวชนชั้นกลางชาวยิว การมีเชื้อสายยิวทำให้เขาเป็นเป้าของการกวาดล้างเพราะระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๑-๑๙๕๒ เป็นช่วงที่สหภาพโซเวียตดำเนินการปลดผู้นำคอมมิวนิสต์เชื้อสายยิวในพรรคคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ในกลุ่มรัฐบริวารโซเวียตโดยกล่าวหาว่าเป็นผู้นำกลุ่มยิวที่ฝักใฝ่ขบวนการไซออนนิสต์มากกว่าขบวนการคอมมิวนิสต์สากลทั้งเป็นพวกชาตินิยมกระฎุมพี (bourgeois nationalism)

 กอตต์วัลด์ไม่กล้าปกป้องสลันสกีเพราะกลุ่มที่นิยมสตาลินในพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวะเกียและในหมู่ตำรวจลับมีจำนวนมากทั้งมีอิทธิพลสูง ในช่วงถูกจำขังเกือบปีสลันสกีถูกทรมานอย่างทารุณจนเขาคิดฆ่าตัวตายแต่ก็ถูกขัดขวาง สลันสกีและสหายอีก ๑๓ คนซึ่ง ๑๑ คนเป็นยิวถูกพิจารณาคดีในที่สาธารณะ ณ ศาลประชาชนที่กรุงปรากระหว่างวันที่ ๒๐-๒๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๒ และมีการโยงคดีของเขาไปเกี่ยวพันกับกรณีของลาซโล รอย์คในฮังการีด้วยจำเลยทั้งหมดยอมรับผิดทุกข้อกล่าวหา การยอมรับผิดเป็นเพราะทุกคนต่างกลัวจะถูกทรมานด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เหี้ยมโหด และเข้าใจว่าครอบครัวจะไม่ถูกลงโทษหรือถูกจับกุมหากพวกเขาสารภาพ แต่ที่สำคัญที่สุดทุกคนต้องการปกป้องพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ให้ด่างพร้อย และเห็นว่าการยอมรับผิดต่ออาชญากรรมที่ไม่ได้ทำเป็นการรับใช้พรรคศาลตัดสินคดีเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคมให้ประหารชีวิต ๑๑ คน ซึ่งรวมทั้งสลันสกีและวลาดีมีร์ เคลเมนท์ติส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและผู้นำคอมมิวนิสต์สโลวักเชื้อสายยิว ส่วนอีก ๓ คนให้จำคุกตลอดชีวิตและส่งไปทำงานที่เหมืองแร่ยูเรเนียม รูดอล์ฟ สลันสกีขณะอายุได้ ๕๑ ปี ถูกแขวนคอในวันรุ่งขึ้นและศพของเขาก็ถูกเผา ณ ลานประหารในวันเดียวกัน

 หลังการประหารชีวิตสลันสกี ครอบครัวของเขาก็ถูกจับกุมและถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคโยเซฟา (Josefa) คู่ชีวิตของสลันสกีและบุตรถูกคุมขังจนถึง ค.ศ. ๑๙๕๓ น้องชายสลันสกีซึ่งเป็นผู้ช่วยเอกอัครราชทูตประจำโปแลนด์ถูกจับตัวและต้องโทษจำคุก ๒๕ ปี แต่เขาได้รับการปล่อยตัวใน ค.ศ. ๑๙๕๘ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๖๓ รัฐบาลเช็กคืนสถานภาพทางสังคมให้แก่สลันสกี ในปีเดียวกันประธานาธิบดีอันโตนิน นอวอตนี (Antonin Novotný)* ซึ่งประกาศว่าเชโกสโลวะเกียประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศเป็นสังคมนิยมและกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของการก้าวไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ที่ปราศจากชนชั้นก็อภัยโทษแก่สลันสกีและเหล่าสหาย โดยคืนสถานภาพเดิมทางสังคมให้ ต่อมาในสมัยประธานาธิบดีอะเล็กซานเดอร์ ดูบเชก (Alexander Dubcek)* ซึ่งเป็นช่วงการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่เรียกกันว่าฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก (Prague Spring)* ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ ดูบเชกให้ทบทวนคดีของสลันสกีและเหล่าสหาย ศาลตัดสินว่าบุคคลทั้งหมดเป็นผู้บริสุทธิ์

 ใน ค.ศ. ๑๙๘๙ เชโกสโลวะเกียมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ปราศจากการนองเลือดในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า การปฏิวัติกำมะหยี่ (Velvet Revolution)* วาซลาฟ ฮาเวล (Vaclav Havel)* ผู้นำของกลุ่มกฎบัตร ๗๗ (Charter 77)* ซึ่งเป็นขบวนการเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ฮาเวลได้กู้เกียรติของสลันสกีอีกครั้งหนึ่งด้วยการแต่งตั้งบุตรชายของสลันสกีซึ่ชื่อรูดอล์ฟเช่นเดียวกับบิดาไปเป็นเอกอัครราชทูตเช็กประจำกรุงมอสโกสหภาพโซเวียต.



คำตั้ง
Slánský, Rudolf Salzmann
คำเทียบ
นายรูดอล์ฟ ซัลซ์มันน์ สลันสกี
คำสำคัญ
- กลุ่มกฎบัตร ๗๗
- กองทัพแดง
- กอตต์วัลด์, เคลเมนต์
- การปฏิวัติกำมะหยี่
- การลุกฮือของประชาชาติสโลวัก
- ความตกลงมิวนิก
- ค่ายกักกัน
- ค่ายกักกันแรงงาน
- เคลเมนติส, วลาดีมีร์
- โคมินเทิร์น
- โคมินฟอร์ม
- โครงการฟื้นฟูบูรณะยุโรป
- เชโกสโลวะเกีย
- ซาโปตอตสกี, อันโตนิน
- ไซลีเซีย
- ดูบเชก, อะเล็กซานเดอร์
- ตีโต
- นอวอตนี, อันโตนิน
- แนวร่วมประชาชน
- เบเนช, เอดุอาร์ด
- โบฮีเมีย
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี
- แผนมาร์แชลล์
- พรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวะเกีย
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคนาซี
- พรรคประชาชน
- พรรคประชาธิปไตย
- พรรคโยเซฟา
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสังคมนิยม
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเชโกสโลวะเกีย
- พวกชาตินิยมกระฎุมพี
- มาซาริก, ทอมาช
- มาซาริก, ยาน
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยูโกสลาเวีย
- รอย์ค, ลาซโล
- รัฐบริวารโซเวียต
- ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก
- ลัทธิบูชาบุคคล
- ลัทธิมากซ์
- ศาลประชาชน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สภาแห่งชาติสโลวัก
- สลันสกี, รูดอล์ฟ
- สลันสกี, รูดอล์ฟ ซัลซ์มันน์
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- องค์การโคมินเทิร์น
- ออสเตรีย-ฮังการี
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮูซาก, กุสตาฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1901-1952
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๔๔-๒๔๙๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-